เนื่องจากวรรณคดีส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากแรงบันดาลใจที่ผู้แต่งมีต่อสภาพและเหตุการณ์แวดล้อมในยุคสมัยของผู้แต่ง เช่น มีความชื่นชมในวีรกรรม ความสามารถหรือบุญบารมีของบุคคลสำคัญก็แต่งเรื่องประเภทสดุดี ถ้ามีความเลื่อมใสศรัทธาในศาสนาก็แต่งเรื่องธรรมะและชาดก ถึงแม้วรรณคดีที่เกิดจากความสะเทือนใจส่วนตัวของ ผู้แต่งเอง ผู้แต่งก็มักสร้างเนื้อหาและฉากของเรื่องขึ้นจากสิ่งที่ผู้แต่งประสบพบเห็นเป็นส่วนมาก นอกจากรูปแบบ คำประพันธ์ ประเภท และสาระสำคัญของเรื่องมักเป็นไปตามคตินิยมของสังคมในสมัยที่แต่ง เพราะฉะนั้นการอ่านวรรณคดีให้ได้คุณค่าที่แท้จริง จำเป็นต้องเรียน วรรณคดีในเชิงประวัติ หรือประวัติวรรณคดีประกอบด้วย การเรียนประวัติวรรณคดี พิจารณาถึงประเด็นสำคัญของวรรณคดีในด้านต่าง ๆ ดังนี้

ผู้แต่ง รวมถึงชีวประวัติและผลงาน
ที่มาของเรื่อง ได้แก่ เรื่องที่เป็นต้นเค้า อาจเป็นเรื่องหรือเหตุการณ์ภายในประเทศ หรือที่ได้รับอิทธิพลจากต่างประเทศ
ความมุ่งหมายในการแต่ง ได้แก่ แรงบันดาลใจหรือความมุ่งหมายของผู้แต่งในการแต่งวรรณคดีนั้น ๆ
วิวัฒนาการและความสัมพันธ์ต่อเนื่องระหว่างวรรณคดีแต่ละสมัย
สภาพสังคมในสมัยที่แต่ง ซึ่งได้แก่ วัฒนธรรม สภาพสังคม และเหตุการณ์ของบ้านเมืองในระยะเวลาที่แต่ง
อิทธิพลที่วรรณคดีมีต่อสังคมทั้งในสมัยที่แต่งและในสมัยต่อมา
ดังนั้น การศึกษาประวัติวรรณคดี ทำให้ทราบที่มาของวรรณคดีแต่ละเรื่องว่าเกิดขึ้นอย่างไร มีแรงบันดาลใจอะไร แต่งในสมัยใด ใครเป็นผู้แต่ง อิทธิพลของเหตุการณ์บ้านเมืองที่มีต่อวรรณคดี และอิทธิพลของ วรรณคดีที่มีต่อสังคมไทยในแต่ละยุคสมัย

วิทย์ ศิวศริยานนท์ กล่าวว่า วรรณคดีเป็นสิ่งที่มีอยู่ในสันดานของมนุษย์ตลอดเวลา เช่นเดียวกับศิลปะอื่น ๆ มนุษย์มีศิลปะทุกยุคทุกสมัย และศิลปะไม่ใช่การเล่นฆ่าเวลา วรรณคดีเกิดขึ้นได้เสมอในสภาวการณ์ต่าง ๆ และอาจจะมีมูลเหตุมาจากอารมณ์เพศ ศาสนา การเล่น หรืองานก็ได้ ขึ้นอยู่กับทัศนะของแต่ละบุคคล หรือแต่ละความเชื่อ พิชิต อัคนิจ กล่าวว่า ตำนานกำเนิดวรรณคดีของชาติต่าง ๆ อาทิ ตำนานกรีก ตำนานสันสกฤต ตำนานจีน เป็นต้นเค้าของทฤษฎีการกำเนิดวรรณคดีในสมัยปัจจุบัน เพราะมูลเหตุที่ทำให้เกิดวรรณคดีตามหลักวิชาการสมัยใหม่ที่นำมากล่าวไว้ต่อไปนี้ ก็ล้วนมีสาระอิงตำนานที่กล่าวไว้แล้วแทบทั้งสิ้น คือ
1. เกิดจากการนับถือวีรชน เช่น เรื่องรามายณะ มหาภารตะ ลิลิตยวนพ่าย ลิลิตตะเลงพ่าย เป็นต้น
2. เกิดจากความเชื่อทางศาสนา ศาสนาเป็นที่พึ่งทางใจ ศาสนาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและเป็นสิ่งบันดาลใจให้เกิดวรรณคดีได้ เช่น เรื่องมหาชาติคำหลวง ไตรภูมิพระร่วง ปฐมสมโพธิกถา และอื่น ๆ
3. เกิดจากอารมณ์ อารมณ์ที่เกิดเอง ไม่คล้อยตามผู้อื่น เช่น อารมณ์รัก โกรธ โศก เป็นมูลเหตุให้เกิดวรรณคดีไทย เช่น เรื่องมัทนะพาธา กามนิต อติรูป และอื่น ๆ
4. เกิดจากความกลัวภัย โดยเฉพาะภัยธรรมชาติ
5. เกิดจากการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม การไปมาหาสู่ระหว่างสังคมต่าง ๆ ก็มีส่วนทำให้เกิดวรรณคดีด้วย เช่น นิราศดอน นิราศกวางตุ้ง และอื่น ๆ

 

1. คุณค่าทางศีลธรรม
กวีสอดแทรกคติ คำสอน และศีลธรรม ไว้ในเนื้อเรื่องบ้าง ถ้อยคำบรรยายบ้าง ในถ้อยคำสนทนาบ้าง      ผู้อ่านรับคติ ข้อคิดที่ดีงามไปโดยไม่รู้ตัว
2. คุณค่าทางปัญญา
ผู้อ่านจะได้รับความรู้เพิ่มขึ้นได้ข้อคิด ขยายทัศนคติให้กว้างขวางขึ้น
3. คุณค่าทางอารมณ์
ทำให้ผู้อ่านเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ในเรื่องความรู้สึกและอารมณ์ต่าง ๆ ของตัวละคร ทั้งความดีใจ ความเสียใจ ความโกรธ ความรัก ความกลัว เป็นต้น ทำให้ผู้อ่านเกิดอารมณ์คล้อยตามหรืออารมณ์สะเทือนใจไปด้วย
4. คุณค่าทางวัฒนธรรม
วรรณคดีทำหน้าที่สืบต่อวัฒนธรรมของชาติ จากคนรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง วรรณคดีจะสอดแทรกวัฒนธรรม ชีวิตความเป็นมนุษย์ ประเพณีต่าง ๆ ของสังคม
5. คุณค่าทางประวัติศาสตร์
ถ้าอ่านประวัติศาสตร์ จะเบื่อหน่ายหลงลืม แต่ถ้าอ่านวรรณคดี เช่นลิลิตตะเลงพ่าย จะจำเรื่องยุทธ์หัตถีได้ดีขึ้น และเห็นความสำคัญของเหตุการณ์กับบ้านเมือง
6. คุณค่าทางจินตนาการ
ผู้มีจินตนาการ มักเป็นผู้มองเห็นการณ์ไกล ทำสิ่งใดด้วยความรอบคอบ
7. คุณค่าทางทักษะเชิงวิจารณ์
การอ่านมาก เพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ชีวิต วรรณคดีเป็นสิ่งยั่วยุให้ผู้อ่านใช้ความคิดตรึกตรอง ตัดสินว่าสิ่งใดดีหรือไม่ดี เป็นการฝึกการใช้วิจารณญาณ ก่อให้เกิดทักษะเชิงวิจารณ์
8. คุณค่าในด้านวรรณศิลป์
คือคุณค่าในด้านการใช้ถ้อยคำที่ไพเราะ มีการบรรยายการเปรียบเทียบได้ชัดเจนทำให้ผู้อ่านเกิดจินตภาพมีถ้อยคำสำนวนที่ ให้แง่คิด คติสอนใจ ผู้อ่านสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน
9. คุณค่าในด้านสภาพชีวิตสมัยบรรพบุรุษ
ทำให้ผู้อ่านได้ทราบสภาพชีวิต ความเป็นอยู่ ความรู้สึกนึกคิดของผู้คนและบ้านเมืองในสมัยนั้น และบางเรื่อง กวีได้นำเรื่องราวทางประวัติศาสตร์มาเป็นข้อมูลในการแต่ง ซึ่งผู้อ่านสามารถนำมาเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ในชีวิตประจำวันได้
10. คุณค่าในด้านศิลปะอื่น ๆ
วรรณคดีแต่ละเรื่องยังให้ความรู้ความเพลิดเพลินแก่ผู้อ่านในด้านศิลปะต่าง ๆ เช่น สถาปัตยกรรม จิตรกรรม เพลง ละคร ภาพยนตร์ เป็นต้น